- กลอน
- ๑[กฺลอน] น. ไม้ขัดประตูหน้าต่าง, ดาล, เครื่องสลักประตูหน้าต่าง; ไม้ที่พาดบนแปสำหรับวางเครื่องมุงหลังคาจากเป็นต้น. ๒ [กฺลอน] น. คำประพันธ์ซึ่งแต่เดิมเรียกคำเรียงที่มีสัมผัสทั่วไป จะเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ หรือร่ายก็ตาม เช่นในคำว่า ชุมนุมตำรากลอน, ครั้นเรียกเฉพาะคำประพันธ์เฉพาะอย่างเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ ร่าย แล้ว คำประพันธ์นอกนี้อีกอย่างหนึ่งจึง เรียกว่ากลอน เป็นลำนำสำหรับขับร้องบ้าง คือ บทละคร สักวา เสภา บทดอกสร้อย, เป็นเพลงสำหรับอ่านบ้าง คือ กลอนเพลงยาว หรือ กลอนตลาด. กลอนด้น น. คำกลอนที่ว่าดะไปไม่คำนึงถึงหลักสัมผัส. กลอนตลาด น. คำกลอนสามัญ โดยมากเป็นกลอน ๘ เช่น กลอนนิราศ นิทานคำกลอน. กลอนบทละคร น. กลอนเล่าเรื่อง ใช้เป็นบทแสดง วรรคแรกจะต้อง ขึ้นต้นด้วย เมื่อนั้น บัดนั้น หรือ มาจะกล่าวบทไป. กลอนเพลงยาว น. กลอนที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงความรัก หรือเล่าสู่กันฟัง เป็นต้น ขึ้นต้นด้วยวรรครับหรือวรรคที่ ๒ ของบท. กลอนลิลิต น. คำกลอนที่แต่งอย่างร่าย. (ชุมนุมตำรากลอน). กลอนสด น. กลอนที่ผูกและกล่าวขึ้นในปัจจุบันโดยไม่ได้คิดมาก่อน, โดยปริยายหมายความว่า ข้อความที่กล่าวขึ้นในปัจจุบัน โดยมิได้เตรียมตัวมาก่อน เช่น พูดกลอนสด. กลอนสวด น. กลอนที่อ่านเป็นทำนองสวด แต่งเป็นกาพย์ยานี ๑๑ หรือ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ข้อความที่แต่ง มักเป็นเรื่องในศาสนา. กลอนสุภาพ น. กลอนเพลงยาว บางครั้งเรียกว่า กลอนตลาด. ๓ [กฺลอน] น. ลูกตุ้ม, ขลุบ, เช่น แกว่งกลอนยรรยงยุทธ์. (อนิรุทธ์).
Thai dictionary (พจนานุกรมไทย). 2014.