- จร
- ๑[จอน, จอระ-, จะระ-] ว. ไม่ใช่ประจำ เช่น คนจร รถจร, แทรกแปลกเข้ามา เช่น โรคจร ลมจร. ก. ไป, เที่ยวไป; ประพฤติ. (ป., ส.), ใช้เป็นบทท้าย สมาสก็มี เช่น ขจร = เที่ยวไปในอากาศ, วนจร = เที่ยวไปในป่า, ที่ใช้ควบ กับคำไทยก็มี. จรกลู่ [จอระกฺลู่] (กลอน) ก. เที่ยวลอยเกลื่อนกลาดอยู่ เช่น จรกลู่ขึ้น กลางโพยมากาศ. (ม. คำหลวง ทศพร). จรจรัล [จอระจะรัน, จอนจะรัน] (กลอน) ก. เที่ยวไป, เดินไป, เช่น แม่รักลูกรักจรจรัล พลายพังก็กระสัน. (ดุษฎีสังเวย). จรจัด [จอน-] ว. ร่อนเร่และไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง. จรดล [จอระดน] (กลอน) ก. เที่ยวไปถึง. (ป. จร + ตล = พื้น; ข. ฎล = ถึง). จรบน, จรบัน [จะระ-] (กลอน) ก. เที่ยวไปเบื้องบน, ฟุ้งไป, บินไป, เช่น ด้วยคันธามลกชำระจรบันสระหอมรส. (ม. คำหลวง นครกัณฑ์). จรบาท [จอระ-] (กลอน) ก. เดินไปด้วยเท้า, ตรงกับคำว่า บทจร. จรมัน [จอระ-] (กลอน) ก. ทำให้มั่น, ทำให้แข็งแรง. จรลวง, จรล่วง [จอระ-] (กลอน) ก. ล่วงไป, ลับไป. จรลาย [จอระ-] (กลอน) ก. ละลายไป, หายไป. จรล่ำ, จรหล่ำ [จอระหฺล่ำ] (กลอน) ก. เที่ยวไปนาน, ไปช้า, เช่น ในเมื่อ ชีชูชกเถ้ามหลกอการไปแวนนานจรล่ำแล. (ม. คำหลวง ชูชก), เท่าว่า ทางไกลจรล่ำ วันนี้ค่ำสองนางเมือ. (ลอ.), คิดใดคืนมาค่ำ อยู่จรหล่ำต่อ กลางคืน. (ม. คำหลวง มัทรี). จรลิ่ว [จอระ-] (กลอน) ก. เที่ยวไปไกล, ลอยไป, เช่น เหลียวแลทางจรลิ่ว เหลียวแลทิวเทินป่า. (ลอ). จรลี [จอระ-] (กลอน) ก. เดินเยื้องกราย. จรลู่ [จอระ-] (กลอน) ก. เที่ยวไปตามทาง, เที่ยวกลิ้งอยู่, เที่ยวกองอยู่. ๒ [จอน] ดู จอน ๒.
Thai dictionary (พจนานุกรมไทย). 2014.